“หุ้นตก ราคาถ่านหินดิ่ง โดนฟ้อง !!!” เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในปี 2555 หรือ “ดวงชะตา” ของ “ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” ขุนพลถ่านหิน และ “บ้านปู” (BANPU) บริษัทที่เขาร่วมก่อตั้งกับตระกูลเอื้ออภิญญกุล ด้วยทุนจดทะเบียนตั้งต้น 25 ล้านบาท ดูจะ“ไม่ราบรื่น”ในปีที่ผ่านมา !!

จากการตรวจสอบพบว่า “ชนินท์” “ในวัย 61 ปี” เกิดวันที่ 26 ก.ย.2495 ปีนักษัตร “มะโรง” หรือ มังกร ขณะที่ “บ้านปู” ก่อตั้งเมื่อปี 2526 ปีนักษัตร “กุน” โดยปี 2555 ตรงกับปีนักษัตร “มะโรง” ซึ่งปีมะโรงและปีกุน ถือเป็น 2 ใน 5 ปีนักษัตรที่มี “ดวงปะทะ” (มะโรง,กุน,มะเส็ง,ขาล,วอก)

ย้อนรอย “บ้านปู” ตลอดปี 2555 เจ้าพ่อถ่านหินต้องตกอยู่ในวังวนของ “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” ไล่มาตั้งแต่ “ราคาถ่านหิน” ที่ “ทิ่มหัว” ลงมาแตะ “จุดต่ำสุด” 80 เหรียญต่อตัน จากที่เคยมีราคาเฉลี่ย 116 เหรียญต่อตันเมื่อช่วงปีต้นปี 2555 ช่วงนั้น “ชนินท์” เคยทำนายราคาถ่านหินไว้ว่าอาจอยู่ระดับ 100 เหรียญต่อตัน เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่มีราคาถ่านเฉลี่ย 97 เหรียญต่อตัน

ถัดมาช่วงกลางปี 2555 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้ “บ้านปู” และ “บ้านปูพาวเวอร์” ชดใช้ค่าเสียหายแก่ “ศิวะ งานทวี” จำนวน 4,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และค่าขาดประโยชน์เป็นเงินรายปี 2558-2570 ปีละ 860 ล้านบาท และปี 2571-2582 ปีละ1,380 ล้านบาท หลังเป็นโจทย์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีบริษัทหลอกลวงให้เข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุนศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ เมืองหงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ข่าวนี้ถือว่า “สะเทือนต่อ” ราคาหุ้น BANPU มากที่สุด ราคาหุ้น “หักหัวลง” จนหลุด 400 บาท!!!

จากนั้นราคาหุ้น BANPU ก็โดนผลกระทบอีกรอบ หลังสหรัฐอเมริกา ออกมาประกาศว่า เจอ “ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน” (Shale Gas) ซึ่งเป็นพลังงานนอกรูปแบบที่อนาคตอาจเข้ามาแทนที่พลังงานอย่างถ่านหิน เพราะมีต้นทุนต่ำ ตอนนี้เริ่มมีโรงไฟฟ้าหลายแห่งในต่างประเทศหันมาใช้ Shale Gas บ้างแล้ว ส่งผลให้ราคาถ่านหินปรับตัวลดลงมายืน 94 เหรียญต่อตัน จากเดิมที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะทะลุ 100 เหรียญต่อตัน หรือสูงสุดที่ 120 เหรียญต่อตัน

ปิดท้าย “ดวงชง” ด้วยการโชว์ผล“กำไรสุทธิ” ประจำปี 2555 “ย่ำแย่ที่สุด”!! เงินหายไปกว่า 10,000 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นล้านบาท) “บ้านปู” ปิดกำไรสทุธิ 9,293 ล้านบาท เทียบกับปี 2554 ที่มีกำไรสุทธิ 20,059 ล้านบาท หลังการรับรู้ผลประกอบการของเหมืองถ่านหินลดลง และมีกำไรจากการขายเงินลงทุนลดลง แต่หากดูเพียงกำไรจากผลการดำเนินงานบริษัทมีกำไรสุทธิลดลงจากปีก่อน 2,513 ล้านบาท


“อีกนานมั้ยกว่าราคา “หุ้นบ้านปู” จะกลับมา ?!! สิ้นสุดคำถาม “ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” กรรมการผู้อำนวยการ “บ้านปู” อมยิ้มก่อนตอบว่า "โปรดอย่าถามเรื่องนี้ คุณลองไปทบทวนสิ่งที่บริษัทเพียรทำมาตลอด โดยเฉพาะการที่บอร์ดมีมติให้บริษัทซื้อหุ้นตัวเองในวงเงิน 6,150 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนต่อจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว แค่นี้ก็พอจะเดาทางได้แล้วมั้ง” เขาส่งสัญญาณเล็กๆ ก่อนจะบอกต่อว่า
"ผมคงให้ความเห็นเรื่องนี้ไม่ได้จริงๆ แต่การซื้อหุ้นคืน ถือเป็นการส่งสัญญาณทางอ้อมต่อนักลงทุนว่า ทีมบริหารกำลังคิดอะไรอยู่ มุมหนึ่งผมมองเรื่องการซื้อหุ้นคืนว่า เป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้กำไรสุทธิต่อหุ้นสูงขึ้นได้ด้วยจำนวนหุ้นที่ลดลง"

วันนี้มองราคาหุ้น BANPU หน้าตาอย่างไร ชนินท์บอกว่า ราคาจะสอดคล้องกันไปกับราคาถ่านหิน หากมองธุรกิจถ่านหินตอนนี้อยู่ในขั้นเริ่ม “ฟื้นตัว” ในมุมของราคาหุ้นก็คงไม่หนีกันเท่าไร (ยิ้ม) ต้องมองกิจการของบ้านปูในระยะยาวถึงจะถูก....

“สมฤดี ชัยมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน “มือขวา” ชนินท์ พูดเสริมว่า ในช่วง 2 เดือนกว่าที่ผ่านมา สัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 35% จากสิ้นปี 2555 ที่มีสัดส่วนลดลงต่ำกว่า 30% ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ปีก่อนที่มีนักลงทุนต่างชาติถือหุ้น BANPU เกิน 40%
ต่างชาติถือหุ้นมากขึ้น ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดี ซึ่งอาจแปลได้ว่า หุ้น BANPU กำลังเป็นที่สนใจของกองทุนมากขึ้น สถานการณ์ของเราอาจกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่มองว่าแนวโน้มความต้องการใช้สินค้าโภคภัณฑ์ลดลง ทำให้ต่างชาติแห่ถอนการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าประเภทนี้ออกไปเยอะ

“ชนินท์” แทรกขึ้นว่า ที่ผ่านมาตัวเขาลงทุนในหุ้น บ้านปู ตลอด เรียกว่าซื้ออยู่ตัวเดียว (หัวเราะ) หุ้นกลุ่มอื่นไม่เคยเหลียวแล เพราะเห็นว่าบริษัทมีพื้นฐานที่ดี แต่ตอนนี้หยุดซื้อแล้ว หลังช้อนติดๆกันเมื่อกลางปีก่อน ที่ชะลอเก็บไม่ได้หมายความว่าบ้านปูไม่ดี แต่บริษัทมีโครงการซื้อหุ้นคืน ทำให้เขาต้องเป็นคนรับอำนาจจากคณะกรรมการ เท่ากับว่ารู้ทุกเรื่องในบริษัท "ฉะนั้นหยุดซื้อดีกว่า" เจ้าตัวเผย (ปิดสมุดทะเบียน ณ วันที่ 7 มี.ค.56 “ชนินท์” ถือหุ้นอันดับ 27 จำนวน 1,443,542 หุ้น คิดเป็น 0.53%)
นอกจากลงทุนหุ้น บ้านปู แล้ว ชนินท์บอกว่า ยังจ้างบริษัทจัดการลงทุน ให้บริหารพอร์ตลงทุนส่วนตัว มูลค่าหลัก “ร้อยล้านบาท” ส่วนใหญ่กองทุนจะเน้นลงทุนในตั๋วเงิน และพันธบัตร หุ้นกู้บ้างนิดหน่อย พอร์ตลงทุนเน้นกระจายความเสี่ยง ไม่ได้โฟกัสอย่างใดอย่างหนึ่ง

"ผมลงทุนในที่ดินบ้างเล้กน้อย ส่วนใหญ่จะซื้อเก็บ ไม่ได้นำไปเก็งกำไรต่อ ส่วนใหญ่ครอบครองที่ดินแถวชานเมือง เน้นแถบจังหวัดปทุมธานี" ถามว่าผลตอบแทนการลงทุนในทุกๆสินทรัพย์อยู่ระดับเท่าไรต่อปี “ชนินท์” “ยิ้ม” ก่อนจะพูดว่า “ไม่เยอะหรอก”

ถามถึงทิศทางธุรกิจของ “บ้านปู” ในปี 2556 กรรมการผู้อำนวยการบ้านปู บอกว่า จะเน้นสร้างฐานธุรกิจหลัก (Coal Business) ให้มีความแข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพทางการเงิน เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ ในเมื่อ “ถ่านหิน” ยังคงมีความผันผวนค่อนข้างสูง ฉะนั้นจำเป็นต้องหันมาเพิ่มสัดส่วนกำไรจาก “ธุรกิจไฟฟ้า” มากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีสัดส่วน 20% อนาคตอยากเห็นสัดส่วนเพิ่มเป็น 30-40%

"เรายังคงมองหาโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและนอกประเทศต่อเนื่อง หลังพบความต้องใช้เพิ่มขึ้น แต่ยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดมากกมาย โดยเฉพาะ เรื่องการใช้พลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า"


เขา ยังถือโอกาสอัพเดทเรื่องโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ในสปป.ลาว ว่า ตอนนี้คืบหน้าไปแล้ว 40% ถือว่าเร็วกว่าแผนที่วางไว้มาก คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จแล้ว เชื่อว่าจะลดความผันผวนของผลประกอบการของบริษัทได้แน่นอน
สำหรับเป้ารายได้ในปีนี้ เขาระบุว่า จะพยายามสร้างรายได้ในธุรกิจถ่านหินให้ได้ประมาณ 110,000 ล้านบาท ถือว่าทรงตัวจากปีก่อน ส่วนในแง่ของ “กำไรสทุธิ” ยอมรับคงไม่สูง เนื่องจากราคาถ่านหินยังมีแนวโน้มไม่สู้ดีนัก โดยจะเพิ่มปริมาณผลผลิตเข้ามาชดเชย ควบรวมไปกับการลดต้นทุนการผลิตเหมืองในอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ในส่วนของเหมืองออสเตรเลีย พยายามแก้ไขปัญหาการผลิตที่ยังไม่มั่นคง น่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2/56

"ผมจะเดินหน้าด้วยความระมัดระวัง ฉะนั้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2556-2558) น่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,248 ล้านเหรียญ ปรับลดลงจาก 1,700 ล้านเหรียญ เราจะเน้นใส่เงินในโครงการเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย"
ส่วนโครงการใน “มองโกเลีย” คงต้องชะลอไปก่อน แต่จะหันมาเน้นสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้แทน ล่าสุดได้ขยายพื้นที่สำรวจเข้าไปในด้านตะวันตกของมองโกเลีย คาดว่าภายในปี 2557 จะเริ่มผลิตถ่านหินได้ ปริมาณเริ่มต้นราวๆ 2 ล้านตัน จากนั้นในปี 2558 จะเพิ่มเป็น 4 ล้านตัน

ส่วนปริมาณผลิตถ่านหินรวมในปี 2557 จะอยู่ 54.20 ล้านตัน ส่วนใหญ่มาจากเหมืองอินโดนีเซีย 32 ล้านตัน เหมืองออสเตรเลีย 17 ล้านตัน และเมืองจีน 3.2 ล้านตัน ส่วนปริมาณการผลิตในปี 58 จะเพิ่มขึ้นเป็น 57.30 ล้านตัน มาจากอินโดนีเซีย 32 ล้านตัน ออสเตรเลีย 18 ล้านตัน และในจีน 3.3 ล้านตัน

ธุรกิจ “ถ่านหิน” ยังเป็นธุรกิจหลัก เรายังเดินหน้าพัฒนาเหมือนเดิม และหาโอกาสลงทุนใหม่เพิ่มเติม เขาย้ำ

ก่อนจบบทสนทนา “ชนินท์” ย้อนสถานการณ์ในรอบปี 2555 ให้ฟังว่า ถือเป็นปีที่ “ท้าทาย” มาก สำหรับธุรกิจถ่านหินทั่วโลก เพราะราคาถ่านหินเฉลี่ย "ลดลงกว่า 20%" หลังปริมาณถ่านหินส่งออกของสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากความต้องการใช้ก๊าซ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในอเมริกาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการที่มีการผลิต “Shale Gas” ที่มากขึ้น

"ด้วยเหตุนี้ เราถึงตัดสินใจเลื่อน และลดแผนการใช้เงินลงทุนที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน เพื่อหันมาบริหารต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตถ่านหินมากขึ้น ถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายในองค์กร สิ่งที่เราดำเนินการไปเมื่อปีก่อน ทำให้บริษัทสามารถเผชิญหน้ากับสถานการณ์ถ่านหินลดลงได้อย่างดี"

เขายังบอกด้วยว่า “บ้านปู” กำลังเดินหน้าไปด้วยดี ที่ผ่านมา สามารถข้ามผ่านความท้าทายต่างๆได้ จากนี้ไปจะมุ่งมั่นสร้างสิ่งที่ดีทั้งจากภาวะวิกฤติและโอกาส วันนี้มีเงินสด 1,000 ล้านเหรียญ และจะพยายามรักษาหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่ให้เกิน 1.1 ต่อ 1 เท่า” เจ้าพ่อถ่านหินเกี่ยวก้อยสัญญา....
6 เดือนหลัง “ถ่านหิน” มาชัวร์ !!!
“ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” กรรมการผู้อำนวยการ “บ้านปู” ตั้งโต๊ะวิเคราะห์ราคาถ่านหินในปี 2556 ให้ฟังว่า น่าจะผ่านพ้น “จุดต่ำสุด” ไปแล้ว ฉะนั้นอาจได้เห็นราคาแถวราคา 94-95 เหรียญต่อตัน แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีจะยังไม่ขยับก็ตาม แต่ 6 เดือนหลังของปี 56 น่าจะมาแล้ว อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลมากขึ้น ราคาถ่านหินจะเริ่มมีเสถียรภาพ

"คุณลองย้อนกลับไปดูราคาถ่านหินเมื่อ 3 ปีก่อน ราคา “ผันผวน” มาก เรียกได้ว่า “สูงสุด” และ “ต่ำสุด” ตอนราคาถ่านหินสูงๆ จะเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป จากนั้นราคาถ่านหินก็เข้าสู่ภาวะขาลงทันที ผมเชื่อจากนี้ไปราคาถ่านหินจะเข้าสู่ภาวะทรงตัว" เขาย้ำ
“สมฤดี ชัยมงคล” เสริมข้อมูลว่า ช่วง 3 ปีก่อน นับตั้งแต่ปี 2553 ราคาถ่านหินเฉลี่ยอยู่ที่ 99 เหรียญต่อตัน จากนั้นปี 2554 ราคาเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 96 เหรียญต่อตัน ก่อนจะทรุดหนักในปี 2555 ลงมายืน 80 เหรียญต่อตัน


อีก 3 ปีข้างหน้า ราคาถ่านหินจะมีหน้าตาอย่างไร? มือการเงินอาสาตอบแทนนายว่า ในปี 2557-2558 ยังไม่มีสำนักไหนออกมาวิเคราะห์ แต่ในมุมมองของ “บ้านปู” มองว่าในอนาคตอุปสงค์และอุปทานยังคงมีการขยายตัว แต่ต้องมาดูต่อว่าหากทั้ง 2 ส่วนมีความสมดุลกันแล้วสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเท่ากันหรือไม่ หากมอง “ดีมานด์-ซัพพลาย” ในเวลานี้ ลึกๆในใจยังเชื่อว่าราคาถ่านหินจะไม่กลับไป “หวือหวา” เหมือนปี 2555

ปีก่อนเป็นปีที่หนักของ “บ้านปู” เนื่องจากราคาถ่านหินต่ำมาก จากการมี Shale Gas ทำให้ปริมาณถ่านหินในอเมริกาล้นออกมาสู่ตลาด ซึ่งเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้ราคาถ่านหินผันผวน แต่จากนี้ไปเชื่อว่า Shale Gas จะใช้แค่ในอเมริกา ส่วนถ่านหินอเมริกาจะส่งออกมาขายในทวีปเอเชีย ฉะนั้นทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะไม่มีการกดดันราคา จากนั้นดีมานด์กับซัพพลายจะเริ่มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7-10%

“ชนินท์” แทรกขึ้นว่า เราสนใจธุรกิจพลังงานลมและโซลาร์เซลล์ อย่างน้อยก็กระจายความเสี่ยงเรื่องราคาถ่านหินที่ผันผวน อีก 2 ปีข้างหน้า ทุกคนน่าจะได้เห็นทำพลังงานลมก่อน หลังมีการทดสอบพลังงานลมมาปีกว่าๆ ในภาคอีสานและภาคกลาง ตอนนี้ก็คงทำกันไปเรื่อยๆ ก่อน หากลงมือจริงจิง คงไม่ทำไซส์เล็กๆ แต่จะทำขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ส่วนโซลาร์เซลล์ อาจเข้าไปซื้อไลเซ่นส์ หรือร่วมทุน

เมื่อมีพลังงานทางเลือกมากขึ้น ความต้องการใช้ถ่านหินมีสิทธิลดลงหรือไม่? “ชนินท์” ตอบเป็นคำถามสุดท้ายว่า “ไม่เลย” ความต้องการใช้ถ่านหินยังมีอยู่ เพราะต้นทุนพลังงานถ่านหินยังถูกกว่าพลังงานทางเลือกอื่นๆ ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกกว่าเมื่อเทียบกับพลังงานอื่น

"ผมเชื่อว่าพลังงานทดแทนจะไม่เข้ามาทำให้ถ่านหิน หรือแก๊สปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ยังไง..โรงไฟฟ้าถ่านหิน และแก๊สยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักต่อไป"

ที่มา: bangkokbiznews