ทริสฯ เพิ่มเครดิต ธ.ธนชาต เป็น AA-/Stable,หุ้นกู้ด้อยสิทธิ A+,หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนเป็น A
ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- จันทร์ที่ 16 มกราคม 2555 14:41:55 น.
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “AA-" จากเดิมที่ระดับ “A+" ปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารเป็นระดับ “A+" และ “A" จากเดิมที่ระดับ “A" และ “A-" ตามลำดับ

พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable" หรือ “คงที่" จาก “Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังการซื้อกิจการและประสบความสำเร็จในการควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย(SCIB) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่และกระจายตัวมากกว่า อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและมีประสบการณ์ในธุรกิจหลักคือสินเชื่อเช่าซื้อ ตลอดจนเครือข่ายธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการผสานกำลังทางธุรกิจของกลุ่มธนชาต นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของพันธมิตรเชิงกลยุทธ์จากประเทศแคนาดาคือ Bank of Nova Scotia ซึ่งถือหุ้นในธนาคาร 49%

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของธนาคารลดทอนลงจากการมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Asset -- NPA) ในระดับสูง ตลอดจนความไม่แน่นอนของผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงทั้งในธุรกิจธนาคารและธุรกิจหลักทรัพย์ นอกจากนี้ การเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของกลุ่มธนชาตอาจมีข้อจำกัดจากความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

อันดับเครดิต “A" สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคาร (TBANK197A และ TBANK247A) สะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงต่อการเลื่อนชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และสะสมผลตอบแทน ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2562 และ 2567

ทั้งนี้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้คืนทั้งจำนวนก่อนครบกำหนดได้ภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับการชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร

นอกจากนี้ ธนาคารมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ประเภทนี้ในกรณีที่ธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนในงวดบัญชี 6 เดือนล่าสุดก่อนถึงวันกำหนดชำระดอกเบี้ยและธนาคารไม่มีการจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลา 6 เดือนก่อนวันกำหนดชำระดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม จำนวนดอกเบี้ยที่จ่ายคืนจะเป็นจำนวนดอกเบี้ยสะสม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนบทบาทสำคัญของธนาคารในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มธนชาต โดยคาดว่าการผสานกำลังที่เกิดจากการควบรวมกิจการจะช่วยให้สถานะทางการตลาดของธนาคารมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถปรับปรุงคุณภาพของสินทรัพย์ให้ดีขึ้น ทั้งนี้ การเติบโตอย่างสม่ำเสมอของรายได้ การแก้ไขสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพจะส่งผลดีต่ออันดับเครดิตของธนาคาร

นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนพื้นฐานความคาดหมายว่าการลดลงของวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 50 ล้านบาทเป็น 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2555 จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบอย่างรุนแรงโดยทันทีต่อระบบธนาคารพาณิชย์

ธนาคารธนชาตเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 6 โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 8.3% และเงินฝากที่ 6.5% ธนาคารเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 26% ด้วยสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 260.8 พันล้านบาท (รวมสินเชื่อของ บริษัท ทุนธนชาต ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่)

ธนาคารได้ทำการควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทยสำเร็จตามแผนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ซึ่งทำให้สถานะทางการแข่งขันของธนาคารมีความแข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะในสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อของธนาคารมีการกระจายตัวไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นเพิ่มมากขึ้น มีผลทำให้สัดส่วนสินเชื่อในภาคธุรกิจต่างๆ เหมาะสมยิ่งขึ้นและยังช่วยลดการกระจุกตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ลง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 สัดส่วนสินเชื่อธุรกิจคิดเป็น 42% ของสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2552 ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 58% ลดลงจาก 78% เมื่อสิ้นปี 2552

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ประโยชน์จากฐานลูกค้าเงินฝากขนาดใหญ่และเครือข่ายสาขาจำนวนมากของธนาคารนครหลวงไทยซึ่งจะช่วยสนับสนุนและขยายขอบเขตการให้บริการทางการเงินภายใต้กลุ่มธนชาตผ่านช่องทางและเครือข่ายต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารจะมีมูลค่าเครือข่ายทางธุรกิจ (Franchise Value) ที่มีความแข็งแกร่งขึ้นในระยะกลางถึงระยะยาว อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนชาตยังคงต้องแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จจากการผสานประโยชน์ทางธุรกิจในลำดับต่อไป

ฐานะการเงินของธนาคารธนชาตดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2553 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 8,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116% จาก 4,056 ล้านบาทในปี 2552 อันเป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นทุนในการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Return on Average Asset -- ROAA) และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (Return on Average Equity -- ROAE) สำหรับปี 2553 เท่ากับ 1.34% และ 17.51% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่ระดับ 1% และ 16.48%

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธนาคารในงวด 9 เดือนแรกของปี 2554 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับตัวเลขประมาณการของทริสเรทติ้งสำหรับช่วงเวลาระหว่างการควบรวมกิจการ โดยธนาคารมีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2554 จำนวน 6,444 ล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 6,720 ล้านบาท ธนาคารมี ROAA และ ROAE เท่ากับ 0.74% และ 8.86% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง (ไม่รวมธนาคารไทยที่มีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 แห่ง) ที่ 1.11% และ 11.57% อัตราส่วนต้นทุนในการดำเนินงานต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 38.8% ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 40.7% ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2554 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 36.2% อย่างไรก็ตาม ธนาคารควรมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในระยะกลางภายหลังการควบรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์

สำหรับคุณภาพสินทรัพย์ภายหลังการควบรวมกิจการนั้น ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพรวมทั้งสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างของสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจที่รับโอนมาจากธนาคารนครหลวงไทย ทั้งนี้ ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 คิดเป็น 6.31% ของเงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 3.04% ในปี 2552 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 3.98%

ในขณะที่ธนาคารมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 คิดเป็น 0.61 เท่าของผลรวมของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคาร โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่ระดับ 0.31 เท่า และสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 0.53 เท่า อย่างไรก็ตาม ระดับเงินกองทุนและสำรองหนี้สูญของธนาคารยังคงเพียงพอสำหรับรองรับการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่มิอาจคาดการณ์ได้ กระนั้นก็ตาม ยังคงต้องรอพิสูจน์ความสามารถของคณะผู้บริหารในการควบคุมดูแลคุณภาพสินทรัพย์มิให้เสื่อมถอยลงไปอีกในช่วงที่การควบรวมกิจการเสร็จสิ้นแล้ว

ภายหลังการควบรวมกิจการ ธนาคารมีแหล่งเงินทุนที่กระจายตัวดีขึ้น อีกทั้งยังมีโครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สินที่สอดคล้องกันมากขึ้น สภาพคล่องโดยรวมของธนาคารดีขึ้นเนื่องจากสามารถระดมเงินฝากจากรายย่อยได้มากขึ้น อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน) เท่ากับ 97% สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 96% ฐานเงินกองทุนของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นจากการเพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้นใหญ่ในปี 2553 จำนวน 35.8 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 8.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 เพิ่มขึ้นจาก 6.4% ในปี 2552 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 9.3%

สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 เท่ากับ 14.7% เพิ่มขึ้นจาก 14.1% ในปี 2552 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 15.4% และคาดว่าอัตราส่วนของธนาคารจะลดลงอีกเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากการนำค่าความนิยมจากการซื้อกิจการมาหักออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 เมื่อการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ

--อินโฟเควสท์