ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน TUF ที่ A+/Stable
ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2554 13:08:43 น.

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์(TUF)ที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ระดับโลก รวมถึงการมีสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย ตลอดจนการมีตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักในธุรกิจอาหารทะเลกระป๋องในทวีปยุโรปและตราสินค้าปลาทูน่ากระป๋องในประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย ตลอดจนภาวะอิ่มตัวของอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป และความแปรปรวนของราคาปลาทูน่าด้วย

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและความมีประสิทธิภาพในการผลิต โดยที่ฐานตลาดส่งออกที่กระจายตัวและสินค้าที่หลากหลายจะช่วยให้รายได้ของบริษัทมีเสถียรภาพ ต้นทุนที่ลดลงจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้เครื่องจักรในการผลิตและการบริหารการจัดซื้อวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังการรวมกิจการกับ MW Brands Holding Group (MWB) จะช่วยดำรงความสามารถในการทำกำไรแม้บริษัทจะเผชิญกับปัญหาต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงที่สูงขึ้นก็ตาม

ทริสเรทติ้งรายงานว่า TUF ก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลจันศิริ บริษัทเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งรายใหญ่ของประเทศไทยโดยมียอดขายในปี 2553 อยู่ที่ 71,507 ล้านบาทและมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 220,000 ตัน ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของบริษัทมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากการรวมงานด้านบรรจุภัณฑ์เข้ากับเครือข่ายกระจายสินค้า

ในเดือนตุลาคม 2553 บริษัทได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของ MWB ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องแบบครบวงจรตั้งแต่การมีกองเรือจับปลาไปจนถึงโรงงานผลิต และช่องทางจัดจำหน่ายในตลาดยุโรป MWB มีโรงงานหลักตั้งอยู่ในประเทศซีเชลส์และกาน่า และมีตลาดหลักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ การซื้อหุ้น MWB ทำให้บริษัทเป็นเจ้าของตราสินค้าที่มียอดจำหน่ายอันดับต้น ๆ ในยุโรป ได้แก่ Petit Navire, John West, Mareblu และ Hyacinthe Parmentier นอกเหนือจาก “Chicken of the Sea" ซึ่งเป็นตราสินค้าปลาทูน่ากระป๋องที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประเทศสหรัฐอเมริกา

การซื้อกิจการ MWB ทั้งหมดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ช่วยเสริมความเป็นผู้นำในธุรกิจปลาทูน่าให้แก่บริษัทมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทมีปริมาณการผลิตปลาทูน่าเพิ่มขึ้นเป็น 230,000 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 หรือประมาณ 300,000 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของปริมาณการผลิตปลาทูน่าทั่วโลก

ตลาดส่งออกของบริษัทก็มีการกระจายตัวและมีสมดุลมากขึ้น โดยยอดขายในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 36% ในขณะที่ยอดขายในสหภาพยุโรปมีสัดส่วนคิดเป็น 32% (เทียบกับ 16% ในปี 2553) และประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วน 9% สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่จำหน่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 นั้น ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าคิดเป็น 49% ของยอดขายรวม ตามด้วยกุ้งแช่แข็ง 19% อาหารสัตว์กระป๋อง 6% และอาหารทะเลกระป๋อง 5%

หลังจากรวมยอดขายของ MWB แล้ว ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมียอดขาย 2,395 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 51.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายจาก MWB เท่ากับ 554 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 23% ของยอดขายรวม ส่วนยอดขายจากธุรกิจเดิมมีมูลค่า 1,841 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ยอดขายของ MWB เพิ่มขึ้น 9.9% อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.5% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2554 จาก 6.5% ในปี 2553 การรวมงบการเงินของ MWB ซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงช่วยเสริมให้อัตรากำไรโดยรวมของบริษัทดีขึ้น

นอกจากนี้ อัตรากำไรที่สูงขึ้นยังเป็นผลมาจากการทยอยปรับราคาขายปลาทูน่าเพื่อสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่การลดเวลาในการรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กุ้งและต้นทุนวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์กุ้งที่ลดลงยังช่วยให้ธุรกิจกุ้งแช่แข็งทำกำไรได้ดีขึ้นด้วย ความสามารถในการทำกำไรและยอดขายที่เพิ่มขึ้นทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 7,406 ล้านบาท

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ เดือนกันยายน 2554 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 61.3% จาก 61.7% ณ สิ้นปี 2553 เนื่องจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจากราคาปลาทูน่าที่สูงขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบันจะปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับและอยู่ต่ำกว่าระดับนโยบายที่ 50% อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ที่ระดับ 4.4 เท่าถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับตามแผนการชำระคืนหนี้

ล่าสุดบริษัทได้ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นอย่างน้อย 40% ของหุ้นทั้งหมดของ บริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด (มหาชน) (PPC) ซึ่งดำเนินธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง โดยราคาเสนอซื้อเท่ากับมูลค่าทางบัญชีของ PPC ณ เดือนธันวาคม 2554 ทั้งนี้ การลงทุนใน PPC ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทมากนักเนื่องจากสินทรัพย์ของ PPC ณ เดือนกันยายน 2554 มีมูลค่าเทียบเท่าเพียง 5% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท ทั้งนี้ คาดว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะในทวีปยุโรปและต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยจะเป็นประเด็นท้าทายสำหรับบริษัทต่อไป

--อินโฟเควสท์